เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
[955] ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า
“ผู้ประกอบในการอ้อนวอน”
มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น
ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งสมุทร
เพราะฉะนั้น น้ำในสมุทรจึงดื่มไม่ได้
[956] แม่น้ำพัดพาเอาพราหมณ์ผู้จบพระเวท
ทรงมนต์เกินกว่าพันคนไป น้ำมีรสไม่เสียมิใช่หรือ
เพราะเหตุไร มหาสมุทรที่กว้างใหญ่จึงดื่มไม่ได้
[957] บ่อน้ำเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกมนุษย์นี้
ที่พวกขุดบ่อขุดไว้ เกิดเป็นน้ำเค็มได้
แต่มิใช่เค็มเพราะท่วมพราหมณ์ตาย
น้ำในบ่อเหล่านั้นดื่มไม่ได้ นะพ่อลิ้นสองแฉก
[958] เมื่อก่อนครั้งต้นกัป ใครเป็นภรรยาของใคร
ใจให้มนุษย์เกิดก่อน1 แม้โดยธรรมดานั้น
ไม่มีใครเลวกว่าใครมาแต่กำเนิด
ท่านกล่าวจำแนกส่วนของสัตว์ไว้แม้อย่างนี้
[959] แม้บุตรของคนจัณฑาลก็เรียนพระเวท
สวดมนต์ได้ เป็นคนฉลาด มีความคิด
ศีรษะของเขาจะไม่พึงแตก 7 เสี่ยง
มนต์เหล่านี้พวกพราหมณ์แต่งขึ้นไว้ฆ่าตน

เชิงอรรถ :
1 ใครเป็นภรรยาของใคร หมายความว่า ใครจะชื่อว่าเป็นภรรยาของใคร เพราะในเวลานั้นยังไม่มีเพศชาย
เพศหญิง ภายหลังเกิดชื่อว่ามารดาบิดา เพราะอำนาจเมถุนธรรม ใจให้มนุษย์เกิดก่อน หมายความ
ว่า แท้จริง เวลานั้นใจเท่านั้นทำให้เกิดเป็นมนุษย์ คือ สัตว์ทั้งหลายบังเกิดขึ้นด้วยใจเท่านั้น (ขุ.ชา.อ.
10/958/80)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :331 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
[960] มนต์เหล่านี้พวกพราหมณ์แต่งขึ้นด้วยวาจา
แต่งขึ้น (และ) ยึดถือไว้ด้วยความโลภ
เข้าถึงท่วงทำนองของพวกพราหมณ์นักแต่งกาพย์
ยากที่จะปลดเปลื้องได้
จิตของพวกคนโง่ตั้งอยู่ด้วยอาการที่ไม่สม่ำเสมอ
คนไม่มีปัญญาจึงหลงเชื่อคำนั้น
[961] พราหมณ์หามีกำลังเยี่ยงลูกผู้ชาย
ดุจกำลังของราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลืองไม่
ความเป็นมนุษย์ของพราหมณ์เหล่านั้นพึงเห็นเหมือนของโค1
แต่ชาติพราหมณ์เหล่านั้นมีลักษณะไม่เสมอ
[962] ก็ถ้าพระราชาปกครองแผ่นดิน พร้อมทั้งอำมาตย์คู่ชีพ
และราชบริษัทผู้รับพระราชโองการ
ทรงชำนะหมู่ศัตรูลำพังพระองค์เอง
ประชาราษฎร์ของพระองค์นั้นก็จะพึงมีสุขอยู่เป็นนิตย์
[963] มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้มีความหมายเท่ากัน
ถ้าไม่วินิจฉัยความแห่งมนต์และไตรเพทนั้น ก็ไม่รู้ได้
เหมือนทางที่ถูกน้ำท่วม
[964] มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้มีความหมายเท่ากัน
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ
ทั้งหมดทีเดียวเป็นธรรมดาของวรรณะ 4 นั้น
[965] พวกคหบดีใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำงานบนแผ่นดิน
เพราะเหตุแห่งทรัพย์และข้าวเปลือกฉันใด
แม้หมู่พราหมณ์ผู้ทรงไตรเพทก็ฉันนั้น
ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำงานบนแผ่นดินในวันนี้

เชิงอรรถ :
1 พึงเห็นเหมือนของโค อธิบายว่า ชาติพราหมณ์เหล่านั้นนั่นแหละเหมือนกับของโค เพราะมีปัญญาทราม
แต่มีลักษณะไม่เสมอ เพราะมีรูปร่างสัณฐานต่างกับโค (ขุ.ชา.อ. 10/961/81)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :332 }